เจ็บป่วยแค่ไหน ถึงเรียกว่า “ฉุกเฉิน” ที่ใช้สิทธินอกเหนือจากสถานพยาบาลตามสิทธิได้
หลายคนอาจยังสงสัยว่า แบบไหนนะ ถึงเรียกว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เข้าข่ายการใช้สิทธิประกันสุขภาพ ซึ่งคำจำกัดความของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่า
“เจ็บป่วยฉุกเฉิน” คือ การได้รับอุบัติเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วยกระทันหัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิต หรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต หรืออาการบาดเจ็บนั้น มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
อาการผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ 5 ระดับ
- สีแดง มีภาวะคุกคามที่อาจทำให้เสียชีวิต ต้องได้รับการรักษาทันที เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น ผู้ป่วยมีอาการชัก
- สีชมพู มีภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ควรได้รับการตรวจภายใน 10 นาที เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก
- สีเหลือง ผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการตรวจภายใน 30 นาที เช่น มีไข้สูง 40 องศา สูญเสียการมองเห็นฉับพลัน
- สีเขียว ผู้ป่วยเจ็บเล็กน้อย ต้องได้รับการตรวจภายใน 1 ชั่วโมง คือ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเล็กน้อย แต่ไม่มีภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน มีไข้ต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส
- สีขาว ผู้ป่วยนอกทั่วไป หรือผู้ป่วยที่มารับยากลับบ้านซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรได้รับการตรวจภายใน 2 ชั่วโมง
ใครบ้างได้สิทธิ ฉุกเฉินรักษาฟรี
ต้องบอกว่าใครก็ตามที่เป็นประชาชนคนไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง หรือ ไม่ได้มีสิทธิการรักษาอะไรเลย หากมีอาการ เจ็บป่วย ฉุกเฉิน สามารถรักษาฟรี โดยผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉินต้องมี 6 อาการที่เข้าข่าย ดังนี้
เช็ค 6 อาการเข้าข่าย ภาวะฉุกเฉินวิกฤติ
หากไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการที่เข้าข่ายฉุกเฉินตามคำนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ลองเช็กอาการเบื้องต้นหากพบ 6 อาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ เข้ารับการรักษาได้ทุก รพ. ทั้งรัฐและเอกชน โดยแพทย์จะประเมินว่าเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินหรือไม่
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย
- เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.1669 เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย โดยจะมีเจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินทำหน้าที่ประสานงานรถของการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็น รถฉุกเฉิน หรือรถพยาบาลในพื้นที่ให้มารับผู้ป่วย
ขั้นตอนการใช้สิทธิ ต้องทำอย่างไร
ก่อนจะใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ ดังนี้
- ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยให้แจ้ง รพ.ว่าใช้สิทธิ
- โรงพยาบาลประเมินอาการ และคัดแยกระดับความฉุกเฉิน
- ระหว่างโรงพยาบาลประเมินอาการ ติดต่อ ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หมายเลข 02-872-1669
- กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันทีแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือ พ้นวิกฤติ
- กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิหากประสงค์รักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น