กองทุนเงินทดแทนคืออะไร ?


กองทุนเงินทดแทนคือกองทุนที่จะจ่ายเงินทดแทนให้กับลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างเกิดอันตรายจากการทำงานให้นายจ้าง เช่น การเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิตหรือสูญหาย โดยการจ่ายเงินทดแทนจะไม่คำนึงถึงวัน เวลา และสถานที่ แต่จะดูสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยว่าควรจ่ายเงินทดแทนยังไง ดังนั้น เพื่อให้คุณรักษาสิทธิ์ในฐานะที่เป็นลูกจ้าง นี่คือเรื่องที่ลูกจ้างจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับเงินกองทุนทดแทน

4 ค่าใช้จ่ายที่กองทุนเงินทดแทนคุ้มครองถ้าเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน

อันตรายจากการทำงานในออฟฟิศเกิดขึ้นได้เสมอ บางอุบัติเหตุอาจทำให้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย แต่บางอุบัติเหตุอาจทำให้สูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้เลย ซึ่ง 4 ค่าใช้จ่ายที่กองทุนเงินทดแทนจะคุ้มครอง คือ 


กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่ารักษาพยาบาลกี่บาท

กองทุนเงินทดแทนจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 50,000 บาทต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง แต่ถ้าอุบัติเหตุมีความรุนแรงหรือมีอาการเรื้อรัง กองทุนเงินทดแทนจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มให้จนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลอีก 100,000 บาทแต่ไม่เกิน 300,000 บาท 


กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่าทดแทนรายเดือนกี่บาท

ถ้าลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานให้กับนายจ้างจนต้องหยุดงาน สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน ทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือสูญหาย จะได้เงินค่าทดแทนรายเดือนหรือเงินค่าขาดรายได้ร้อยละ 70 ของเงินเดือน และเงินนี้จะไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ โดยกองทุนเงินทดแทนจะจ่ายเงินค่าขาดรายได้สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน


กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่าทำศพกี่บาท

ถ้าลูกจ้างเสียชีวิตระหว่างทำงาน สำนักประกันสังคมจะจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพจำนวน 50,000 บาท


กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานกี่บาท

หลังจากที่ลูกจ้างพบเจอกับอันตรายจากการทำงานในออฟฟิศ ได้รับการรักษาพยาบาลแล้ว แต่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย กองทุนเงินทดแทนจะจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานให้กับลูกจ้าง ดังนี้ 


ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพ (ค่ากายภาพบำบัด) จ่ายจริงไม่เกิน 24,000 บาท

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูร่างกาย จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

กองทุนเงินทดแทนของประกันสังคม นายจ้างต้อง จ่ายให้เท่าไหร่ 

การจ่ายเงินกองทุนเงินทดแทนที่เรียกว่า “เงินสมทบ” นายจ้างจะเป็นคนจ่ายกองทุนด้วยตนเอง ซึ่งสำนักประกันสังคมจะเรียกเก็บเงินกองทุนทดแทนกับนายจ้างแบบรายปี โดยจะประเมินจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน แล้วนำไปคูณกับอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการในอัตรา 0.2-1.0%​ และจะเป็นจำนวนเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับว่านายจ้างทำกิจการประเภทใด และมีความเสี่ยงมากหรือน้อยเท่าไหร่ 


ใครบ้างที่มีสิทธิ์ยื่นเรื่องขอเงินกองทุนทดแทนให้กับลูกจ้าง

เมื่อเกิดอันตรายจากการทำงานออฟฟิศ จนทำให้ลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือสูญหาย ต้องไปแจ้งเรื่องกับสำนักประกันสังคม ซึ่งบุคคลที่สามารถดำเนินการได้ คือ


นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจต้องยื่นแบบ กท.16 ที่สำนักประกันสังคมที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนา ภายในระยะเวลา 15 วันหลังจากที่ได้ทราบว่าลูกจ้างเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย

ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้ที่สำนักประกันสังคมที่สถานประกอบการตั้งอยู่ภายใน 180 วันนับตั้งแต่วันที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย

ทั้งนี้ ถ้าการเจ็บป่วยเกิดขึ้นหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างแล้ว ให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอเงินทดแทนจากกองทุนเงินแทนภายใน 2 ปี ตั้งแต่วันที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย


กองทุนเงินทดแทนกับกองทุนประกันสังคม ต่างกันยังไงบ้าง

ถ้าลูกจ้างจะรู้จักแค่กองทุนประกันสังคมมากกว่ากองทุนเงินทดแทนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในสลิปเงินเดือนที่ลูกจ้างได้รับมีแค่การหักเงินประกันสังคม ไม่ได้มีการหักเงินกองทุนทดแทน ซึ่งกองทุนเงินทดแทนกับกองทุนประกันสังคมมีความแตกต่างกันมาก โดยเงินติดล้อจะขออธิบายพอสังเขป ดังนี้


กองทุนประกันสังคมจะคุ้มครองลูกจ้างใน 7 กรณีที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน คือ การเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ตามกฎหมายแรงงาน แต่กองทุนเงินทดแทนจะคุณคุ้มครองในกรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงานให้นายจ้าง

การจ่ายเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมลูกจ้างจะเป็นคนจ่าย แต่กองทุนเงินทดแทนนายจ้างจะเป็นคนจ่าย ดังนั้น รายจ่ายกองทุนเงินทดแทนจึงไม่มีในสลิปเงินเดือน

การเข้ารักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคม ต้องเป็นโรงพยาบาลที่ลูกจ้างเลือกเอาไว้ แต่กองทุนเงินทดแทนเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้แต่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนถ้าโรงพยาบาลนั้นไม่ได้ทำข้อตกลงเอาไว้กับกองทุนเงินทดแทน และมีการกำหนดเพดานค่ารักษาพยาบาลเอาไว้ด้วย

แสดงความคิดเห็น

ไม่อนุญาตให้มีความคิดเห็นใหม่*

ใหม่กว่า เก่ากว่า