เห็ดตับเต่า(เห็ดทรัฟเฟิลไทย)



ทางภาคเหนือจะเรียกกันว่า เห็ดห้า เพราะจะขึ้นบริเวณใต้ต้นหว้า ซึ่งชาวเหนือเรียกต้นหว้าว่า ต้นห้า ส่วนในภาคอีสานเรียกว่า เห็ดน้ำผึ้ง ถิ่นกำเนิดของเห็ดตับเต่าจะพบในแถบประเทศทีมีอากาศชื้น พบได้ในป่าทั่วไปตามภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ หรือจะพบในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนนั่นเอง



เห็ดตับเต่าจะขึ้นเองตามธรรมชาติจึงนับได้ว่าเป็นเห็ดที่ปลอดสารพิษ (แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการเพาะเห็ดตับเต่าขายแล้ว) หน้าตาของเห็ดชนิดนี้จะมีสีออกน้ำตาล น้ำตาลเข้ม ไปจนถึงสีดำ

เห็ดนั้นเป็นอาหารสุขภาพชนิดหนึ่ง กินแล้วได้ประโยชน์ต่อร่างกาย (ยกเว้นจะไปกินเห็ดพิษเข้า) ให้พลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และแร่ธาตุต่างๆ ส่วนสรรพคุณทางยาของเห็ดตับเต่านั้นเป็น ยาบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงตับ บำรุงปอด กระจายโลหิต และดับพิษร้อนภายในร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยบำบัดอาการปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเส้นเอ็นและกระดูก ป้องกันการชักกระตุก คนจีนใช้เป็นสมุนไพร แก้เคล็ดคัดยอก และปวดกระดูก

ในการปรุงเป็นอาหารส่วนใหญ่ นิยมใช้ทั้ง ดอกเห็ด ทำเป็นแกงลาวใส่ยอดฟักทอง หน่อไม้สด ใส่ใบแมงลักเพิ่มกลิ่นหอมให้ชวนรับประทานยิ่งขึ้น สำหรับเครื่องประกอบจะมีพริกขี้หนูสด หรือพริกขี้หนูแห้ง หอมแดง ข่า ตะไคร้ อย่างละ 1 แว่น โขลกให้ละเอียดต้มกับน้ำจนเดือดแล้วผ่าเห็ดตับเต่าครึ่งซีก ล้างน้ำให้สะอาดใส่ลงหม้อ ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ถ้าไม่กินปลาร้า ใช้เกลือแทน น้ำตาลทรายเล็กน้อยโรยด้วยใบแมงลักตามที่กล่าวข้างต้น ตักรับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ เนื้อเห็ดจะซับน้ำแกงกรุบๆ อร่อยมาก สามารถใส่เห็ดเผาะ หรือเห็ดฟางลงไปทำเป็นแกงเห็ดรวมเพิ่มความอร่อยได้เต็มรูปแบบ

เมื่อนำไปปรุงเป็นอาหารแล้ว จะมีรสชาติอร่อยไม่แพ้เห็ดทรัฟเฟิลของฝรั่งเศสที่มีราคาแพง กิโลกรัมหลายหมื่นบาทแม้แต่น้อย และเห็ดตับเต่าจะมีสีดำเหมือนกัน ที่สำคัญจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่นกัน จึงเป็นเห็ดปลอดสารพิษอย่างแน่นอน รับประทานแล้วได้คุณค่าทางอาหารอย่างเต็มเปี่ยม

คุณค่าทางอาหารเมื่อรับประทานเห็ดตับเต่า 100 กรัม จะให้พลังงาน 29 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 92.4 กรัม โปรตีน 2.5 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.5 กรัม แคลเซียม 13 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 37 มิลลิกรัม ไทอะมีน 0.06 มิลลิกรัม ไนอะซิน 2.0 มิลลิกรัม และวิตามินซี 16 มิลลิกรัม

ข้อสำคัญการจะเก็บเห็ดมากินนั้น ไม่ว่าจะเป็นเห็ดชนิดใดก็ตาม จะต้องให้แน่ใจได้ก่อนว่าไม่ใช่เห็ดพิษ เพราะในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาวนั้น เป็นช่วงที่มีเห็ดหลากหลายสายพันธุ์ขึ้นเองตามธรรมชาติโดยเฉพาะ ในป่า ในไร่ หรือในสวน ซึ่งก็มีทั้งที่กินได้และไม่ได้ โดยเฉพาะเห็ดพิษบางชนิดก็มีสีสันสวยงามล่อตาล่อใจ บางชนิดก็มีหน้าตาคล้ายคลึงกับเห็ดที่ขายตามตลาดทั่วไป ซึ่งการจะพิสูจน์ได้ว่าเห็ดชนิดใดเป็นพิษหรือไม่ ต้องอาศัยการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น


ที่มา : n3k.in.th

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า