ลูกอม-หมากฝรั่ง-น้ำยาบ้วนปาก ลดกลิ่นปากได้จริงหรือ ?

ข้อเท็จจริงก็คือ การอมลูกอม หรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีการใส่กลิ่นและรสหอมสดชื่นนั้น ไม่ได้ลดกลิ่นปากที่เกิดขึ้น แต่เป็นการใช้กลิ่นหอมกลบกลิ่นปาก ซึ่งจะได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น กลิ่นปากยังคงอยู่ในช่องปาก เพียงแต่เราสังเกตไม่ได้เพราะมีกลิ่นอื่นกลบอยู่ เรื่องนี้คล้ายๆ กับการที่เรามีกลิ่นตัวแล้วใช้น้ำหอมดับกลิ่น ไม่ได้เป็นการแก้ที่สาเหตุโดยตรง



ทันตแพทย์แนะนำให้ใช้การแปรงลิ้นเป็นหลักในการลดกลิ่นปาก ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดกลิ่นปากได้โดยใช้ร่วมกับการแปรงลิ้นก็คือ "น้ำยาบ้วนปาก" แต่ต้องเลือกน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์สามารถฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากได้จริง หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีสารบางชนิดที่สามารถกำจัดก๊าซกลิ่นปากที่เกิดขึ้นโดยตรงได้

ปัจจุบันในท้องตลาดมีน้ำยาบ้วนปากมากมายหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อก็โฆษณาว่ามีสรรพคุณว่าลดกลิ่นปากได้ ใช้เทคนิคการโฆษณาต่างๆ จนอาจทำให้พวกเราเข้าใจผิดไป ต้องมีสติในการพิจารณา เพราะ "การโฆษณา" หมายถึงการบอกข้อมูลที่เขาอยากบอก เพื่อให้ขายสินค้าได้ ไม่ใช่การบอกข้อมูลทั้งหมดที่เราควรจะรู้ การเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากอะไรจะต้องดูส่วนผสม สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ ที่ติดอยู่ที่ฉลากว่าเป็นอะไร

น้ำยาบ้วนปากนี้มีสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก มีหลายประเภท กลุ่มที่ได้ผลมากที่สุดคือ น้ำยาบ้วนปากกลุ่ม คลอเฮกซิดีน ซึ่งในกลุ่มนี้จะไม่มีวางขายในห้างสรรพสินค้า จะต้องจ่ายโดยทันตแพทย์ เนื่องจากสารในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อมาก และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะจะทำให้เกิดคราบที่ฟัน การรับรสของลิ้นลดลง

น้ำยาบ้วนปากกลุ่มอื่นๆ ที่มีงานวิจัยว่าลดกลิ่นปากได้เมื่อใช้ร่วมกับการแปรงลิ้น ก็มีกลุ่มน้ำมันหอมระเหย (ไทมอล, ยูคาลิปตอล, เมนทอล และ เมธิล ซาลิไซเลต) และกลุ่มน้ำยาบ้วนปากผสมเซททิล ไพลิดิเนียม คลอไรด์ ที่ 2 กลุ่มนี้มีขายทั่วไปในห้างสรรพสินค้า

อย่าลืมนะครับ! ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารที่มีกลิ่นหอมสดชื่นเพียงอย่างเดียว เพราะจะสามารถระงับกลิ่นปากได้เพียงชั่วคราวเท่านั้นเป็นการกลบกลิ่นปาก ไม่ได้กำจัดสาเหตุของการเกิดกลิ่นปากโดยตรง

คอลัมน์ เรื่องฟันFun โดย ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล
ที่มา : นสพ.มติชน

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า