กินยาแปลกๆ แบบนี้ดีจริงหรือ?



จากประสบการณ์ในการจ่ายยาให้ผู้ป่วย ซึ่งปกติดิฉันจะแนะนำการกินยา เวลาในการใช้ยา การใช้ยา เทคนิคพิเศษในการใช้ยาบางประเภท ความต่อเนื่องในการใช้ยา และเรื่องโรคที่เขาเป็นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ดิฉันเริ่มคิดว่าขาดไม่ได้อีกประการคือ การระมัดระวังไม่ให้ใช้ยาแบบพิสดารเกินกว่าที่แนะนำ เนื่องจากพบว่ามีหลายรายมีวิธีกินยาแบบประหลาดๆ ซึ่งหลายๆ ครั้งเป็นเพียงความเชื่อผิดๆ แต่ทำให้ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาแบบแปลกๆ เหล่านั้น
ตัวอย่างเช่น

     • กินยากับน้ำอัดลม หรือน้ำที่ผสมแก๊ส เพราะเชื่อว่ายาจะได้แตกตัวเร็วขึ้น หายจากโรคหรืออาการที่เป็นอยู่เร็วขึ้น

     • ผสมยากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ เพราะเชื่อว่าการทำเช่นนี้เหมือนกับการทำยาดองเหล้าคือ น่าจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น แรงขึ้น

     • กินยาพร้อมอาหาร บางคนกลืนยายากเลยใช้วิธีกินยาพร้อมอาหาร โดยเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนแล้วเอาเม็ดยาวางลงไปแล้วกลืนไปพร้อมอาหารคำนั้นๆ

     • บดยา หรือเคี้ยวยา วิธีนี้พบได้บ่อยมาก เพราะส่วนใหญ่ทำไปเพราะให้ยาแตกตัวและดูดซึมได้เร็วขึ้น บางรายก็ทำไปเพื่อให้กินยาได้ง่ายขึ้น

     • หักยา พบได้บ้างกรณีที่ยายาเม็ดใหญ่มากๆ โดยมักจะบอกว่าถ้าไม่หักก็กินลำบาก

     • ละลายยาแล้วกิน เหตุผลคล้ายกับวิธีอื่นๆ คือต้องการให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น หรือให้กลืนได้ง่าย

     • ถอดปลอกแคปซูลยาออก ก่อนกิน บางคนกลืนแคปซูลแล้วติดคอ บางคนก็กลัวว่าถ้าแคปซูลไม่ละลายแล้วยาจะออกมาได้อย่างไร ก็เลยถอดปลอกแคปซูลออกผสมน้ำดื่ม บ้างก็คิดไปเองว่ายาจะออกฤทธิ์ช้าเลยจัดการถอดปลอกออกก่อนแล้วกินผงยาแทน

     • เจาะเปลือกแคปซูลแล้วบีบยาที่เป็นน้ำภายในออกมากิน อันนี้พบได้บ้าง ส่วนใหญ่คือต้องการให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น

     • ใช้ฟันกัดเม็ดยา เพราะต้องการความรวดเร็ว จึงใช้ฟันกัด

     วิธีกินยาต่างๆ ที่เล่าไปข้างต้นนั้นก็ไม่ใช่วิธีที่ผิดเสมอไปหรอกนะคะ เนื่องจากยาบางตัวก็สามารถบดเคี้ยวได้ แต่ยาบางตัวห้ามเลย ดังนั้นบทความสั้นๆ นี้ก็เพียงแต่จะย้ำให้คุณทั้งหลายได้ทราบว่ายาแผนปัจจุบันที่มีในท้องตลาด ที่แพทย์สั่งจ่ายให้นั้น หรือที่คุณไปหาซื้อตามร้านขายยา การผลิตยาของบริษัทยานั้นได้มีการวิจัย ปรับปรุง และพัฒนาอย่างมากมายก่อนถึงมือคุณ เพื่อให้การออกฤทธิ์ดีที่สุดตามเป้าหมายการรักษาแต่ละโรค ดังนั้นการที่คุณพยายามไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำส่งยาก็เท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากยาได้

     กรณียาแคปซูล ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม หรือยาเม็ดเคลือบน้ำตาล ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้มีการกลบรสหรือกลิ่นที่ไม่ดีเอาไว้ หากไปบดหรือทำให้แตกหัก ก็แค่ทำให้คุณต้องทนกับรสหรือกลิ่นแย่ๆ ที่ซ่อนอยู่ ยิ่งทำให้ไม่อยากกินยา แต่สำหรับกรณียาที่ถูกออกแบบให้มีการออกฤทธิ์ปลดปล่อยตัวยาอย่างช้าๆ สม่ำเสมอตลอดทั้งวัน เช่นยาที่รับประทานวันละครั้ง นั่นหมายถึง คุณสามารถกินครั้งเดียวแต่มีผลการรักษาตลอดทั้งวัน หากนำยาไปกินแบบพิสดารมาก เช่น บด หรือหัก ก็อาจทำให้ได้รับพิษจากยา เพราะการทำให้เม็ดยาแตกจะทำให้ยาถูกปลดปล่อยออกมาอย่างรวดเร็ว ภายในช่วงเวลาสั้นๆ

     ก่อนที่ยาจะถึงมือเรานั้นได้ย่อมผ่านการวิจัยและพัฒนามาอย่างมาก ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการรักษาโรค การพัฒนาสูตรตำรับยาเพื่อให้มีการแตกตัว การละลาย การดูดซึมที่ดี และมีลักษณะทางกายภาพ เช่น รูปร่าง สี กลิ่น รส ที่น่าใช้ ดังนั้นคุณมิต้องกังวลเกี่ยวกับการแตกตัวของยา

เอาง่ายๆ หากนำยาธรรมดามาสักเม็ดแล้วโยนลงไปในน้ำแก้วธรรมดา ไม่ต้องใช้น้ำอุ่น เพียงไม่กี่นาทีแล้วใช้ช้อนคนน้ำสักหน่อย คุณก็จะพบว่ายาส่วนใหญ่จะละลายหรือแตกตัวหมดแล้ว ยกเว้นยาบางประเภทเท่านั้นที่ได้กล่าวไปข้างต้นซึ่งออกแบบเป็นพิเศษให้ยามีการปลดปล่อยยาเนิ่นนาน คุณอาจพบว่ายาไม่ละลายเลย เพราะยาอยู่ภายในเปลือกเม็ดยาที่เห็นพอโดนน้ำ ยาภายในเม็ดจะค่อยๆ ถูกดันผ่านรูเล็กๆ ที่เปลือกนอกซึ่งยาบางตัวก็มองด้วยตาเปล่าเห็น บางทีรูเล็กมากก็มองไม่เห็น แต่การออกแบบเช่นนี้จะทำให้คุณได้ยาอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าเม็ดยาด้านนอกจะไม่ละลายก็ตาม ตัวอย่างยาประเภทนี้ ได้แก่ ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคหัวใจบางตัว นอกจากนี้ยาในปัจจุบันยังมีการพัฒนาการเคลือบต่างๆ ให้ยาไม่ละลายในกระเพาะแต่ไปเริ่มละลายที่ลำไส้เล็ก เช่น ยาเม็ดแอสไพริน เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร การนำยาไปบดหรือละลายยา ก็เท่ากับทำลายสมบัติพิเศษที่ผู้วิจัยอุตส่าห์พัฒนาขึ้นมา แทนที่คุณจะได้รับผลที่ดีที่สุดก็กลายเป็นได้รับผลเสียจากยานั้นแทน

      การบดยา นอกจากจะทำให้ยาเสียคุณสมบัติพิเศษไป ยังทำให้กินยาก ได้รับรู้รสชาติที่ไม่ดีของตัวยาแล้วอาจจะได้ยาไม่ครบปริมาณที่แพทย์ต้องการก็ได้ถ้ากินผงยาไม่ครบทั้งหมด ส่วนการกินยากับน้ำอุ่นจัดอาจจะทำให้ยาละลายเร็วขึ้นอีกนิดนึง แต่ก็มีปัญหาว่ายาพวกแคปซูลอาจจะละลายแล้วไปติดที่หลอดอาหารกลืนไม่ลงได้ การแช่หรือละลายยาในน้ำร้อนก่อนกิน อันนี้ก็มีปัญหาแน่กับตัวยาที่ไม่ทนต่ออุณหภูมิสูงๆ และอาจเสื่อมสภาพได้ทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์ ไม่ได้ผลการรักษา การกินยาละลายน้ำร้อนจึงเท่ากับไม่ได้กินยาเลยมีค่าไม่ต่างกับการกินแป้ง ส่วนการถอดปลอกยาออก ยาส่วนใหญ่ที่ใส่แคปซูลเวลาละลายเป็นผงแล้วจะมีกลิ่นรสชาติที่แย่มากจึงต้องกลบรสและกลิ่นด้วยการนำผงยาบรรจุในแคปซูล อันนี้มีตัวอย่างว่าบางคนกลับมาพบแพทย์ด้วยเรื่องคลื่นไส้อาเจียนมากหลังกินยา จนคิดว่าแพ้ยาที่ให้ไป แต่ปรากฎว่าเมื่อสอบถามก็ได้ความว่าได้ทำการแกะปลอกแคปซูลออกก่อนกิน แล้วเทผงยาเข้าปาก ทำให้ได้รับรู้กลิ่นและรสที่ไม่ดีของตัวยาจึงอาเจียนออกมาหมด พอแนะนำให้กินยาทั้งแคปซูลก็ไม่มีอาการอีกเลย และสำหรับการกัดเม็ดยาด้วยฟัน อันนี้แปลกแต่จริงค่ะ มีบางคนขี้เกียจใช้มีดตัดยา บ้างก็บ่นว่ายาแข็ง เลยใช้ฟันกัดครึ่งซะเลย ซึ่งอันที่จริงแล้วถ้าตัวยาทนความชื้น (จากน้ำลาย) ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ายานั้นไม่ทนกับความชื้นพอใช้ฟันกัดไปยาก็ถูกน้ำลาย อีกครึ่งเม็ดที่เหลืออาจติดน้ำลายไปด้วย พอใส่กลับไปในขวดหรือซองยาทั้งๆ ที่ชื้นจากน้ำลายก็พาลทำให้ยาส่วนนั้นเสื่อมสภาพได้ ประสิทธิภาพในการรักษาโรคก็ลดลงไปด้วย

กรณีตัวอย่าง
     • ยาลดความดันโลหิต สำหรับยาความดันโลหิตสูงที่ชื่อว่า Adalat CR? (Nifedipine) และ Cardil? (Diltiazem) ผู้ที่กินเข้าไปพบว่า
มีเม็ดยาลอยปนออกมากับอุจจาระขณะถ่าย จึงเข้าใจว่ายาไม่ละลายน้ำจึงเอาไปบดก่อนกิน จนทำให้ยาออกฤทธิ์รวดเร็วมากเกินไป ผลคือต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากความดันโลหิตตกอย่างรวดเร็ว เหตุเนื่องจากยาทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ ถูกออกแบบมาให้ออกฤทธิ์เนิ่นนาน เม็ดยาที่เห็นปนออกมากับอุจจาระจึงเป็นเพียงตัวนำส่งยาที่ไม่ละลาย แต่ตัวยาได้ถูกปลดปล่อยเข้าสู่ร่างกายไปหมดแล้ว

     • ยาขยายหลอดลม สำหรับผู้ที่เป็นโรคหืด Theodur? (Theophylline) สมัยก่อนยาตัวนี้มีแต่แบบใช้หยดเข้าหลอดเลือดดำ การปรับขนาดยานั้นทำได้ยากและเสี่ยงต่อการเกิดผลแทรกซ้อนรุนแรง ถ้าให้เกินขนาด เช่น คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ปวดศีรษะ มือสั่น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบยาเป็นยาเม็ดให้ค่อยๆ แตกตัวและปลดปล่อยตัวยาอย่างช้าๆ ทำให้การเกิดผลแทรกซ้อนจากยาลดลง แต่มีบางคนที่ไม่ทราบผลข้างเคียงดังกล่าวเมื่อนำยาไปบดก่อนกินก็เท่ากับทำให้ยาปลดปล่อยตัวยาออกมาอย่างรวดเร็ว จนเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง คือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดพิษของยารุนแรง หากมาพบแพทย์ไม่ทันเวลาก็อาจเสียชีวิตได้

     • ยาแอสไพริน ผู้สูงอายุรายหนึ่งต้องกินยาเม็ดเคลือบแอสไพรินเพื่อป้องกันเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน ต่อเนื่องตลอดชีวิต ด้วยความที่กลัวยาไม่ละลายเพราะเห็นเคลือบไว้จึงนำไปบดก่อนกินทำให้หลังจากกินยาได้ 1 เดือน มีปัญหาเรื่องถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ จากภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื่องจากยากกัดกระเพาะ ปัจจุบันบางบริษัทมีการออกแบบเม็ดยาแอสไพรินให้มีฟิล์มเคลือบเพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหารที่เรียกว่า enteric coated aspirin ดังนั้นการบดยาจึงทำลายฟิล์มที่เคือบยาไว้ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร การอาการคลื่นไส้และปวดท้องเพิ่มขึ้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพราะเหตุใดรายนี้จึงเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

     • ยาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้อักเสบ มีคนที่เป็นโรคติดเชื้อในโพรงไซนัสรายหนึ่งได้นำยา Amoxycilline/Clavulanic acid (Augmentin?) ไปบดละลายน้ำร้อนแล้วกิน เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพราะเม็ดยาใหญ่กลืนไม่ลง จึงนำไปละลายน้ำร้อนก่อน ดังนั้นแม้กินยาเช่นนี้จนยาหมดแต่อาการไซนัสอักเสบก็ยังไม่หาย จนแพทย์ต้องเปลี่ยนยาให้เพราะเชื้อดื้อยา สาเหตุที่ไม่หายจากโรคเนื่องจากตัวยานี้ไม่ทนต่อความร้อน เมื่อนำไปละลายในน้ำร้อนจึงทำให้ได้รับผลการรักษาจากยาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทางที่ดีสำหรับควรแจ้งแพทย์ตั้งแต่รับยาว่าไม่สามารถกินยาได้แพทย์จะได้เปลี่ยนเป็นยาน้ำหรือเลือกยาที่เม็ดเล็กกว่าให้แทน

นอกจากกรณีเหล่านี้แล้วยังมีอีกมากมายนักที่มีวิธีกินยาแบบแปลกๆ ด้วยที่ไม่รู้และไม่เข้าใจ ดังนั้นการกินยาควรกินตามที่ระบุมาให้ ถ้ายาตัวไหนระบุให้เคี้ยวก่อนกลืน เช่น ยาขับลมแก้ท้องอืดแน่นท้อง ยาลดกรดในกระเพาะอาหารบางตัว ก็ให้บดเคี้ยวได้ตามสบาย และกรณีของการกินร่วมกับอาหาร แอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลม ก็เช่นกันก็ควรถามให้แน่ใจเสียก่อนว่าทำได้หรือไม่ เพราะยาประเภทยาฆ่าเชื้อ แก้อักเสบ ซึ่งอาจเกิดปฏิกิริยากับอาหารหรือนม ก็อาจทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลงหรือไม่ออกฤทธิ์เลย จึงไม่ได้ผลทางการรักษา นอกจากนี้ยาบางตัวก็เกิดปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์เมื่อกินร่วมกันจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

     หากคุณสงสัยอะไรที่นอกเหนือจากที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ข้อความที่ระบุบนฉลากยาหรือเอกสารกำกับยาแล้ว คุณควรปรึกษาเภสัชกรให้แน่ใจก่อนว่ากระทำได้หรือไม่นะคะ เพื่อความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการใช้ยาสูงสุด

ที่ีมา healthtoday.net
โดย ภญ.อัมพร จันทรอาภรณ์กุล

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า