กรมสุขภาพจิตเตือนระวัง 'โรคเครียดการเมือง'


กรมสุขภาพจิตห่วงประชาชนเครียดกับการเมือง จนอาจส่งผลให้เกิดโรคเครียดทางการเมืองได้ แนะรับข้อมูลข่าวสารให้พอดี ไม่ควรติดตามต่อเนื่องเดิน 2 ชม. ลดการรับข่าวสารที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ หาวิธีคลายเครียดทั้งออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ระหว่างรอฟังผลการพิจารณาของวุฒิสภาต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ความตึงเครียดทางการเมืองย่อมเกิดขึ้น ซึ่งผลการพิจารณาจะออกมาเป็นเช่นไรนั้นย่อมมีคนที่พอใจและไม่พอใจอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องยอมรับว่า กรณีที่เกิดขึ้นประชาชนต่างมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เราคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง

ทั้งนี้ การคาดการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจะยิ่งทำให้เราวิตกกังวลและเครียด อาจส่งผลให้เกิดโรคเครียดทางการเมืองได้ (Political Stress Syndrome : PSS) โดยมีอาการ ดังนี้ อาการทางกาย ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขนขา นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง ชาตามร่างกาย อาการทางใจ ได้แก่ วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป และปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัว โดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อตอบโต้ มีการเอาชนะทางความคิดแม้กับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพ เกิดการใช้กำลังและความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งความเครียดลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่ม ทั้งผู้ชุมนุม นักการเมือง ผู้ติดตามข่าวสาร และกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิต

สำหรับผู้ที่มีความเครียดรุนแรงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดอารมณ์รุนแรงนั้นลง ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

1. บริหารเวลาให้เหมาะสม โดยแบ่งเวลาในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง การดูแลครอบครัว การทำงาน และการพักผ่อน สำหรับการติดตามข่าวสารไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชม. หรือ ควรติดตามจากคนใกล้ชิดแทน

2. ลดการรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ เช่น สื่อที่ให้ข้อมูลด้านเดียวหรือสื่อที่มีภาพและเสียงที่เร้าให้เกิดอารมณ์รุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้ มีความเครียดทางการเมืองและความเครียดสูง ควรรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่สะท้อนความคิดที่หลากหลาย และมุ่งเน้นการหาทางออก

3. ควรมีวิธีการลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย สวดมนต์ ทำสมาธิ หายใจคลายเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
สำหรับการช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนในชุมชนหรือสถานที่ทำงานที่มีความเครียดทางการเมืองสูง ให้มีความสงบเพิ่มขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติ รับฟัง ชื่นชม ห่วงใย ให้คำแนะนำ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. รับฟัง การลดอารมณ์รุนแรงทางการเมืองไม่อาจกระทำได้ด้วยการโต้แย้งด้วยเหตุผล เนื่องจากแต่ละคนที่มีความเครียดทางการเมืองรุนแรงจะยึดถือในความเชื่อของตนเอง ดังนั้น การโต้แย้ง จึงไม่ช่วยสร้างความสงบ ขณะเดียวกัน การหลีกเลี่ยงไม่พูดคุย ก็ไม่ได้ช่วยลดอารมณ์ลง ทางที่ดีที่สุด คือ การรับฟัง ด้วยความเห็นใจว่าเขามีความเครียด โดยเข้าใจว่าการรับฟังจะช่วยให้คนเราสงบลง

2. ชื่นชม การที่มีความเครียดทางการเมืองรุนแรง ล้วนเริ่มต้นจากความรักในบ้านเมือง ความหวังดีต่อสังคม เพียงแต่ความขัดแย้งมาจากการให้ความสำคัญในประเด็นที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรแสดงความชื่นชมในประเด็นที่ดีของเขา ก็จะทำให้เกิดการยอมรับกัน และนำไปสู่ความไว้วางใจ และช่วยให้เขาอารมณ์เย็นลงได้

3. ห่วงใย คือ การแสดงความเป็นห่วงใยต่อสุขภาพและภาพพจน์ของผู้มีความเครียดทางการเมืองรุนแรง เพื่อช่วยให้เขากลับมามองตนเอง รวมทั้งเป็นห่วงตนเองและผลที่จะเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดด้วย

4. ให้คำแนะนำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับผู้ทีมีความเครียดทางการเมืองรุนแรง แต่ควรมาลำดับท้ายสุด โดยให้คำแนะนำตาม 3 วิธีข้างต้น

ในระดับสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดอารมณ์ทางการเมืองที่รุนแรงในสังคมลงด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้ สื่อและผู้เกี่ยวข้องจะต้องลดการนำเสนอข่าวในส่วนที่สร้างความโกรธ ความเครียดของคู่ขัดแย้งและเพิ่มการเสนอข่าวของฝ่ายต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากคู่ขัดแย้ง ข่าวที่ทำให้เข้าใจคนแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันและเสนอข่าวที่มุ่งเน้นการหาทางออก

เครือข่ายสังคมในอินเทอร์เน็ตควรลดความรุนแรงในการแสดงอารมณ์และความคิดเห็นการแสดงออกในสื่อใหม่เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขาดการควบคุมตนเองเนื่องจากไม่ต้องแสดงตน แต่จะส่งผลกระทบให้เกิดบรรยากาศของสังคมที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น การสื่อสารในเครือข่าย Internet จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการออกความคิดเห็น ไม่ส่งต่อความคิดเห็นที่รุนแรงออกไป รวมทั้งช่วยกันตักเตือนการแสดงออกที่รุนแรง

"ทุกคนสามารถช่วยให้สังคมไทยผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ด้วยการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ แสดงเจตจำนงการให้แก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่สร้างความโกรธ ความเกลียดชัง ลดการเผชิญหน้า และร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ"

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตพร้อมให้คำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำเตือนและข้อปฏิบัตินี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้คนในสังคมไทยกับมาดูแลใจตนเองและคนใกล้ชิด เพื่อบรรเทาวิกฤติ และสร้างความสุขให้กับสังคมไทยต่อไป.

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า