โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อัมพฤกษ์ที่หน้า (Bell’s palsy) หญิงตั้งครรภ์ก็เป็นได้


โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อัมพฤกษ์ที่หน้า (Bell’s palsy) หมายถึง อาการที่เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก ทำให้หลับตาได้ไม่สนิท มุมปากตก และขยับใบหน้าซีกนั้นไม่ได้ โดยเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่จะก่อให้เกิดความกังวล และ สูญเสียความมั่นใจในการเข้าสังคมของผู้ป่วย



นายแพทย์ Charles Bell
สาเหตุที่เรียกว่า Bell’s palsy ก็เพราะนายแพทย์ Charles Bell ศัลยแพทย์ชาวสก็อตเป็นผู้บรรยายอาการของโรคนี้ไว้เป็นท่านแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

หน้าเบี้ยวหลับตาไม่สนิท จะทำให้เกิดอัมพาตหรือไม่
อาการของโรคหน้าเบี้ยว ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเร็วใน 1-2 วัน ตื่นมารู้สึกหน้าหนักๆ หลับตาไม่สนิท ตาแห้ง ดื่มน้ำจะมีน้ำไหลจากมุมปาก บางรายมีลิ้นรับรสผิดปกติหรือหูอื้อๆ ร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เร็วเพราะมีคนทัก และกลัวเป็นอัมพาต ซึ่งอาการของสมองขาดเลือด (อัมพฤกษ์ อัมพาต) จะแยกได้โดย มักจะมีอาการทางระบบประสาทอื่นร่วมด้วย ได้แก่ แขนขาอ่อนแรงข้างเดียวกับที่มีปากเบี้ยว ตาเห็นภาพซ้อน เดินเซหรือมีอาการบ้านหมุน เป็นต้น

อาการหน้าเบี้ยวนั้นเกิดได้จากรอยโรคหลายแห่ง
อาจเป็นจากโรคในเนื้อสมอง(ชนิดUMN) เช่น จากเส้นเลือดในสมองตีบ หรือ จากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7(ชนิดLMN) แต่อาการทางคลินิกจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน สามารถสังเกตง่ายๆได้โดย ถ้าเป็นจากโรคในเนื้อสมอง(UMN) ผู้ป่วยมักจะหลับตาได้สนิท แต่มุมปากจะขยับได้น้อยลง แต่ถ้าเป็นจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7(LMN)เอง จะขยับไม่ได้ทั้งซีกหน้า หลับตาไม่สนิท มุมปากตก ดื่มน้ำก็จะหกจากข้างนั้นๆ



modified from N Engl J Med 2004;351:1323-1331.
ภาพ A หน้าเบี้ยวครึ่งซีกขวาชนิด UMN 
ภาพ B หน้าเบี้ยวครึ่งซีกขวาชนิด LMN

ความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7นั้น อาจเกิดจากส่วนของเส้นประสาทส่วนที่ยังอยู่ในก้านสมอง(brainstem ส่วน pons) หรือ ส่วนที่ออกมาจากเนื้อสมองแล้วแต่ยังอยู่ในช่องน้ำไขสันหลัง(subarachnoid space) หรือฐานกระโหลก ก็ได้ อย่างไรก็ตามมีส่วนน้อยที่ความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 เกิดจากสาเหตุในตัวก้านสมอง ซึ่งก็มักจะมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆให้ตรวจพบด้วย และจะเรียกชื่อตามแต่สาเหตุของโรค ไม่เรียกว่าโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อัมพฤกษ์ที่หน้า (Bell’s palsy)



Modified from N Engl J Med 2004;351:1323-1331

ภาพกายวิภาคของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 เส้นประสาทจะออกจากก้านสมองส่วน pons แล้วออกไปทางด้านข้าง เดินทางคู่ไปกับเส้นประสาทสมองเส้นที่ 8 ผ่านกระโหลกศีรษะไปออกที่หน้าต่อใบหู เส้นประสาทสมองเส้นที่ 7นี้นอกจากควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าแล้ว ยังมีอีกหน้าที่อื่นเช่นการรับรสที่ลิ้น ควบคุมกล้ามเนื้อเล็กๆในหูชั้นกลาง และยังไปเลื้ยงต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำตาด้วย

ดังนั้นโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อัมพฤกษ์ที่หน้า (Bell’s palsy) ในทางการแพทย์จะหมายถึง อาการหน้าเบี้ยวหลับตาไม่สนิท มุมปากตก จากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 เพียงอย่างเดียวโดยที่มักจะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ก็ เชื่อว่าสาเหตุน่าจะเป็นจากการติดเชื้อไวรัสเริม (HSV1) ที่ตัวเส้นประสาทเอง

โรคนี้พบในคนกลุ่มใด
พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีมีครรภ์ช่วงสามเดือนสุดท้าย

การวินิจฉัยแยกโรค
นอกจากนั้นสาเหตุอื่นๆของการหน้าเบี้ยวที่ให้อาการคล้ายโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อัมพฤกษ์ที่หน้า (Bell’s palsy) ได้แก่ การติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง(meningitis) การติดเชื้องูสวัด(HZV) เอชไอวี (HIV) ไลม์(Lyme) ซิฟิลิสเรื้อรัง(syphilitic gumma) ซาคอยโดสิส(sarcoidosis) โรคเรื้อน(leprosy) การกดทับจากเนื้องอกหรือการอักเสบติดเชื้อของต่อมน้ำลายพาโรติดที่อยู่หน้าหู หรือ จากต่อมน้ำเหลือง อุบัติเหตุที่ใบหน้า โรคGuillain Barre syndrome(GBS) และที่สำคัญคือเส้นประสาทที่ 7 ขาดเลือดที่พบในเบาหวาน

การวินิจฉัย
โดยการตรวจอาการทางคลินิกส่วนมากมักจะเพียงพอ ยกเว้นในรายที่ต้องการวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะอื่นๆดังกล่าวข้างต้น จึงจะทำการตรวจเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสูงอายุ หรือสงสัยโรคเบาหวาน

อาการจะหายหรือไม่
การผ่าตัดในสมัยก่อนเรียก microvascular decompression ประมาณ 80-90% จะหายเป็นปกติ อาการมักดีขึ้นในสองสัปดาห์ และส่วนมากจะกลับเป็นปกติใน 3-6 เดือน ส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความผิดปกติหลงเหลืออยู่บ้าง หรือเกิดเส้นประสาทต่อกันผิด (synkinesis) จะทำให้มีอาการ เช่น ทานอาหารแล้วน้ำตาไหล หรือ หลับตาแล้วมุมปากขยับ

การรักษา โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อัมพฤกษ์ที่หน้า (Bell’s palsy)
มีการพูดถึงการใช้สเตียรอยด์และยาต้านไวรัสว่าอาจให้ผลการรักษาดี มีการศึกษาขนาดเล็กจากญี่ปุ่นพบว่าการใช้ valacyclovir ร่วมกับสเตียรอยด์ ให้ผลดีกว่าไม่ได้ยา แต่ล่าสุดมีการศึกษาในผู้ป่วยเกือบ 500 คนจากสกอตแลนด์(N Engl J Med 2007;357:1598-607.) ถึงการใช้สเตียรอยด์ภายในสามวันแรกพบว่าให้ผลการรักษาที่ดีกว่ายาหลอก และพบว่ายา acyclovir ไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา การศึกษานี้ไม่ได้ทำในผู้ป่วยเบาหวานที่คุมไม่ได้และหญิงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดในเรื่องยา

การรักษาตามอาการและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนนั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้ป่วยหลับตาไม่สนิทจึงมักมีตาแดง และอาจนำไปสู่กระจกตาอักเสบได้ ดังนั้นจึงแนะนำผู้ป่วยให้

- ใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง
- ใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรือที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตาเวลานอนหลับ
- สวมแว่นกันลมเวลาออกนอกบ้าน
- อย่าขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท
- การทำกายภาพบำบัดเพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรงให้ได้ทำงาน เพื่อรอการฟื้นตัว

สรุป โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อัมพฤกษ์ที่หน้า (Bell’s palsy)
โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อัมพฤกษ์ที่หน้า (Bell’s palsy) มีอาการหลับตาไม่สนิท และมุมปากขยับไม่ได้ เป็นโรคที่พบได้บ่อย พบได้ในทุกเพศ อายุ และสตรีมีครรภ์ช่วงสามเดือนสุดท้ายจะพบได้บ่อย เชื่อว่าส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสจึงมักจะหายเองได้ อาการมักดีขึ้นในสองสัปดาห์ และส่วนมากจะกลับเป็นปกติใน 3-6 เดือน การจะตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมหรือไม่นั้นขึ้นกับอาการแสดงของผู้ป่วย ถ้าอายุมากอาจจะตรวจเบาหวานด้วย การรักษาทางยายังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่การรักษาตามอาการและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนนั้นสำคัญยิ่งกว่า ผู้ป่วยจึงควรระวังและป้องกันตนเองไม่ให้เกิดกระจกตาอักเสบตามมาได้

ที่มา phyathai.com

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า